เมื่อเราพูดถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ของเมืองที่ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และทำให้เมืองนั้น ๆ เป็นเมืองที่ดี เรามักนึกถึงระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่งมวลชน โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ แต่ยังมีอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญไม่แพ้กัน
เรากำลังพูดถึงการเกิดขึ้นของ “พื้นที่สร้างสรรค์” หรือพื้นที่ที่จะทำให้เกิดการรวมกลุ่ม เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดการพัฒนาตนเอง อย่างเช่นพื้นที่บริเวณสยามสแควร์ ที่ตอนนี้มีการเปิดให้นักเรียนนักศึกษามาแสดงทักษะทางดนตรีและการเต้นรวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ได้
ซึ่งนอกจากสยามแล้ว ยังมีอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศที่ได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การที่ “มากขึ้น” ไม่ได้หมายความว่า “มากพอ”
ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์ ผู้แทนประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) กล่าวว่า “มองว่าก็คงยังมี (พื้นที่สร้างสรรค์) ไม่พอ ในฐานะที่อยู่เชียงใหม่ ต่างจังหวัดมีมากขึ้น อย่างกรุงเทพน่าจะมีมากกว่า ซึ่งพื้นที่สร้างสรรค์มันสามารถเป็นพื้นที่ที่นักเรียน นักศึกษา ประชาชน สามารถไปใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ ได้ ทำงานร่วมกันได้”
เขาเสริมว่า “ยิ่งมีการร่วมมือกันมากขึ้นเท่าไหร่ ย่อมทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะที่เราเห็นว่ามีกิจกรรมต่าง ๆ อย่างที่สยามก็เพิ่งมีพื้นที่ให้เล่นดนตรี แสดงความสามารถ ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ เวิร์กชอปอะไรอย่างนี้ ซึ่งผมว่าเทรนด์มันมาเรื่อย ๆ”
ด้าน ไชยยง รัตนอังกูร หัวหน้าคณะที่ปรึกษา Creative Lab บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) มองว่า ในความเป็นจริง พื้นที่สร้างสรรค์กระจายอยู่เต็มไปหมด แต่มีลักษณะต่างกันไปตามกาลเวลา สถานที่รวมกลุ่มของชาวชุมชนสำหรับประเทศไทยในอดีตก็คือ “วัด”
“มันคือพื้นที่ที่ทำให้สังคมไปเจอกัน ได้พบปะพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ร่วมกัน นำไปสู่การแก้ปัญหาสังคมร่วมกัน” ไชยยงกล่าว
เขาเสริมว่า “พื้นที่ทางสังคมมันเป็นพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไปตามคน มันจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่ผู้คนควรจะพูดถึงมัน และควรจะนั่งคิด ว่าจะใช้พื้นที่ตรงนี้อย่างไร ในการสร้างประโยชน์ใหม่ สร้างคุณค่าใหม่ ร่วมกัน”
พื้นที่สร้างสรรค์ สำคัญต่อสังคมมากแค่ไหน?
เมื่อถามถึงความสำคัญของพื้นที่สร้างสรรค์ว่ามีความจำเป็นมากแค่ไหนต่อสังคม ทั้งรัฐพงษ์และไชยยงต่างเห็นตรงกันว่า “จำเป็นมาก”
รัฐพงษ์บอกว่า พื้นที่สร้างสรรค์มีความจำเป็นต่อสังคมเป็นอย่างมาก เพราะโดยธรรมชาติ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอารยธรรม มีวิวัฒนาการ “ถ้าลองย้อนกลับไปสมัยก่อน เรารู้จักใช้ไฟ นั่นคือความคิดสร้างสรรค์แรก ใช้ไฟให้ความอบอุ่น ประกอบอาหาร นั่นคือการเกิดวิวัฒนาการ ซึ่งมันก็ส่งผลมาเรื่อย ๆ ดังนั้นมันมีความจำเป็นเป็นอย่างมากที่ต้องมีพื้นที่ที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ มันทำให้เกิดเทคโนโลยี ทำให้เกิดสิ่งใหม่”
ไชยยงเสริมว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทย์ของการใช้ชีวิตในเมืองลำพังอาจจะไม่ตอบโจทย์ของการพัฒนา หรือโจทย์ของคุณภาพชีวิตที่ดีพอ การมีพื้นที่สาธารณะจะทำให้คนออกมาทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง รวมถึงเป็นพื้นที่แก้ปัญหาสังคม เพิ่มคุณภาพชีวิตได้
“มันเป็นความต้องการที่เกิดขึ้นโดยบุคคล พอมันมีความต้องการของหลาย ๆ บุคคลรวมกัน มันก็กลายเป็นแนวโน้ม เป็นเทรนด์ เกิดขึ้น แล้วเราก็เห็นตัวอย่างความสำเร็จของการใช้พื้นที่สาธารณะในลักษณะที่เป็นเทศกาลเฟสติวัลเกิดขึ้นมากมาย” ไชยยงกล่าว
ทั้งนี้ พื้นที่สาธารณะที่จะถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ในไทยนั้น มักผูกพันกับงานเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นสงกรานต์ วาเลนไทน์ ตรุษจีน ปีใหม่ ฯลฯ จึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจในการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ของสังคมไทย
ไชยยงยกตัวอย่างกลุ่ม LGBT ที่มีการรวมกลุ่มกันเกิดเป็นเทศกาลไพรด์ (Pride) “เดิมทีเขาไม่ได้รับการยอมรับ แต่ปัจจุบันเมื่อสังคมยอมรับ LGBT มากขึ้น ไพรด์ก็กลายเป็นเทศกาลที่ดึงดูดผู้คนจำนวนมากให้ไปร่วมสนุกสนานด้วย เทศกาลไพรด์ในบางประเทศมีชื่อเสียงมาก จนช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ด้วยซ้ำ”
นั่นจึงนำมาสู่โครงการประกวดผลงานออกแบบพื้นที่สาธารณะในหัวข้อ “MQDC Design Competition 2023 – RE-imagining Thai Social Space: City Festival as Design Intervention” เฟ้นหาสุดยอดผลงานออกแบบพื้นที่สาธารณะของเมืองและพื้นที่กึ่งสาธารณะให้เป็นเมืองแห่งงานเทศกาลหรือการจัดการกิจกรรม ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยว เสริมสร้างภาพลักษณ์ของเมือง และทำให้เกิดการพัฒนาย่านต่าง ๆ
บขส. แจงแล้ว ดราม่า “บันไดเลื่อนทิพย์” ในสถานีหมอชิต 2
รัฐบาล เผย ตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้าไทย 8.5 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 3.5 แสนล้าน
เลือกตั้ง 2566 : กกต. เตือน! ข้อห้ามวันเลือกตั้ง หากทำแบบนี้เสี่ยงผิดกฎหมาย
ในงานนี้มีผลงานที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก มีทีมคนรุ่นใหม่ทั้งนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ รวมถึงบุคคลทั่วไปสนใจเข้าร่วมสมัครแข่งขันประกวดแบบมากกว่า 500 ทีม
ในส่วนของผู้ชนะในกลุ่มบุคคลทั่วไปคือ “อ้อ-มา-กา-เสะ” ผลงานการออกแบบการใช้พื้นที่ของ Cloud 11 ซึ่งติดอยู่กับคลองบางอ้อ มาจัดเทศกาลที่จะชวนทุกคนมาชิมของอร่อยแห่งย่านพระโขนง
ผลงานนี้ปรับแนวคิดเรื่องของ “โอมากาเสะ” หรือการกินอาหารแบบที่เชฟเป็นคนจัดสรรเมนูให้เรามาใช้ แต่เปลี่ยนจากเชฟเป็น “พี่วินมอเตอร์ไซค์” ซึ่งเป็นผู้รู้ประจำย่าน ทำหน้าที่เป็นผู้นำทางและชี้เป้านักท่องเที่ยวไปยังร้านดีของเด็ดประจำย่าน สร้างรายได้ให้ทั้งวินมอเตอร์ไซค์และกระตุ้นเศรษฐกิจร้านค้าในชุมชน
ซึ่งบรรดาผู้ร่วมเข้าประกวดในงานนี้เอง ก็มีความเห็นเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะไปในทำนองเดียวกับรัฐพงษ์และไชยยง
กลุ่ม “ยกโขนง” (คุณปัณณวัชร์ ธีรชาติเสนีย์, คุณกาญจน์ภพ เรืองศิริ, คุณฝากฟ้า ทรัพย์สิงห์, คุณวรวิทย์ หาญสมบัติ และคุณอันดา หอยสังข์) ออกแบบย่านพระโขนงให้มีพื้นที่ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างได้ตามงานที่จัด เพื่อให้สามารถตอบรับทุกความต้องการในการทำกิจกรรมและจัดงานเทศกาลต่าง ๆ ได้ตามหลักแนวคิด Adaptive (ปรับตัวดัดแปลงได้) มองว่า พื้นที่สร้างสรรค์เริ่มมีมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน และเมื่อมีที่หนึ่งเกิดขึ้น มันก็กระตุ้นให้ที่อื่น ๆ เกิดขึ้นอีก
“เรามองว่าพื้นที่สาธารณะควรเป็นพื้นที่สำหรับคนทุกคน กิจกรรมต่าง ๆ งานออกแบบต่าง ๆ มันควรจะตอบโจทย์หรือมีการปรับตัว ปรับเปลี่ยนได้ ไม่ใช่ว่าพื้นที่สาธารณะจะเป็นของคนบางคน หรือว่ากิจกรรมบางกิจกรรมเท่านั้น แต่มันควรรองรับผู้คนที่มีความหลากหลาย ประเพณีที่มีความหลากหลาย มันสามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่สาธารณะ เรามองแบบนั้นแล้วก็อยากเป็นแรงบันดาลใจผ่านผลงานของเรา” ทีมยกโขนงกล่าว
พวกเขาเสริมว่า พื้นที่สำหรับทำกิจกรรมสำคัญมากกับสังคมไทย เพราะว่าปัจจุบันโลกของเรามีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น สังคมไปอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น ซึ่งผู้คนอาจจะติดต่อกันได้ง่ายขึ้น แต่ก็จะขาดการปฏิสัมพันธ์แบบเผชิญหน้ากัน “รู้สึกว่าพื้นที่แบบนี้เป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่หาไม่ได้จากการพบเจอกันในโลกออนไลน์ ถ้ามีพื้นที่กายภาพให้คนได้มารวมกลุ่ม หรือแชร์ประสบการณ์ ช่วงเวลาร่วมกัน คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องดี”
ขณะที่กลุ่ม “ล้อเล่น” (คุณพชรพล โอสถเจริญผล, คุณณัฐพล ลิมป์ศุภวาณิช และคุณณัฐธัญ จารุชวลิต) มองว่า พื้นที่สร้างสรรค์ที่มีในปัจจุบันยันน้อย เหมือนเพิ่งมีกระแสไม่นานมานี้ในการทำให้พื้นที่รกร้างกลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ แต่ก็กำลังเติบโตไปในทิศทางที่กำลังพัฒนาหรือดีขึ้น แต่ว่าในปัจจุบันก็ถือว่ายังขาดแคลน
กลุ่มล้อเล่นนี้เสนอแนวคิดของการนำรถจากหน่วยงานของภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจเป็นหลักที่ว่างจากการปฏิบัติภารกิจมาเป็นโครงสร้างในการจัดงานเทศกาลต่าง ๆ แทนการตั้งโครงสร้างอื่น ๆ ที่สิ้นเปลืองกว่า และสามารถเคลื่อนย้ายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด
พวกเขาบอกว่า “พื้นที่สาธารณะจริง ๆ แล้วบางทีถ้าเทียบกับปัญหาอย่างอื่น บางคนอาจจะมองว่าไม่สำคัญ เมื่อเทียบกับปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ปัญหาเรื่องอาชีพ แต่จริง ๆ แล้วปัญหาความแออัดของเมืองหรือปัญหาการขาดพื้นที่สร้างสรรค์หรือให้คนออกมาใช้ชีวิตทำกิจกรรม มันก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน เพราะมันคือหนึ่งในคุณภาพชีวิตของเมืองที่มันควรจะเป็น”
กลุ่มล้อเล่นกล่าวว่า ถ้าใครอยากรู้ว่าการมีพื้นที่สรางสรรค์ดีอย่างไร ให้ลองไปเที่ยวดู “แล้วจะรู้ว่าการที่มันมี มันดีกว่าการที่ไม่มี ลองไปดูเมืองเก่าที่เขาผสานกับงานศิลปะหรืองานสร้างสรรค์เข้าไป ลองไปใช้ชีวิตดูจะเห็นว่า มันเกิดการกระจายรายได้ให้ชุมชน มันเกิดการเอาวัฒนธรรมชุมชนมาเผยแพร่สู่โลกภายนอก มันทำให้ชุมชนนั้นสามารถมีเม็ดเงินหรือรายได้เข้ามาได้ ฉะนั้นการที่มีก็ดีกว่าไม่มี”
ในส่วนของแนวคิดเรื่องการนำรถของทางการมาใช้ในการจัดงานเทศกาลนั้น เกิดจากพวกเขามองเห็นปัญหาของงานอีเวนต์ ที่มีฟังก์ชันการใช้งานแค่ชั่วคราว เกิดขยะ ของที่เอามาใช้เอาไปทำอะไรต่อไม่ได้
“แล้วเรามองว่า หน่วยงานทุกหน่วยงานมันมีรถที่ต้องใช้อยู่แล้ว แล้วรถมันเคลื่อนที่ได้ สะดวก รวดเร็ว ก็เอางานอีเวนต์ไปจัดบนรถซะ แล้วเหมือนขับรถเข้าไปในไซต์ แล้วกางออก จัดเป็นอีเวนต์ เสร็จแล้วก็แพ็กเก็บ เอารถไปคืน … คนจัดงานอีเวนต์ไม่ต้องไปลงทุนระบบโครงสร้างเสาคานพื้นปกติ ยืมรถแล้วติดตั้งบนรถ เสร็จก็ถอดคืน แล้วรถหน่วยงานช่วงที่ไม่ได้ใช้เขาก็ว่างอยู่แล้ว มีคนเอาไปใช้ก็เกิดประโยชน์สูงสุด อาจจะเก็บค่าเช่านิด ๆ หน่อย ๆ และยังได้พีอาร์ตัวเองว่ามีส่วนสนับสนุนสังคม”
การเลือกตั้งกับพื้นที่สร้างสรรค์
เมื่อพื้นที่สร้างสรรค์มีความสำคัญกับสังคม เรื่องนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีส่วนเกี่ยวพันกับภาคบริหารประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากขาดนโยบายหรือไม่ได้รับการสนับสนุน การจะเกิดพื้นที่สร้างสรรค์ก็เป็นไปได้ยาก
ในช่วงใกล้เลือกตั้งอย่างนี้ รัฐพงษ์บอกว่า “แต่ละพรรคการเมืองต้องมองว่า กลุ่มเป้าหมายของเขาคือใคร ไม่ว่าจะฐานเสียงเดิม ฐานเสียงใหม่ ผมเชื่อว่าพวกเขาจะต้องชูนโยบายเรื่องพัฒนาพื้นที่ให้เยาวชนในการใช้งานมากขึ้น ซึ่งมันจะไม่ได้ตอบโจทย์แค่เยาวชน ในอนาคตมันจะตอบทุกโจทย์คนกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะสังคมเมืองอย่างกรุงเทพ เชื่อว่าเขาต้องมีนโยบายนี้”
เขายังเสริมว่า ภาครัฐสามารถสนับสนุนการสร้างพื้นที่สาธารณะได้ในหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเรื่องของการจัดสรรพื้นที่ให้ พัฒนาพื้นที่เก่าของภาครัฐ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เพราะหลายพื้นที่มีแผนย้ายศูนย์ราชการออกจากศูนย์กลางของเมือง เช่น เชียงใหม่ ลำพูน เพื่อลดความคับคั่งของการจราจร และจะทำให้เหลือพื้นที่ของราชการจำนวนหนึ่ง
“อย่างเชียงใหม่เมื่อก่อนจะมีทัณฑสถานอยู่กลางเมือง แต่เมื่อย้ายออกไปแล้วก็กลายเป็นพื้นที่ที่เขากำลังจะพัฒนามาเป็นสวนสาธารณะ ซึ่งผมว่าตรงนี้มันเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่ามากในการสร้างพื้นที่แห่งใหม่ ปอดแห่งใหม่ พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ ให้กับเมือง” รัฐพงษ์กล่าว
ด้านไชยยงบอกว่า พื้นที่สร้างสรรค์เป็นสิ่งที่รัฐและไม่ว่าใครที่จะมาเป็นผู้บริหารในอนาคตต้องให้ความสำคัญ
“มันคือการเข้าไปฟังเสียงของพื้นที่ ฟังเสียงชุมชน พื้นที่ทางสังคมมันไม่จำเป็นต้องเป็นที่ดินก็ได้ เป็นความร่วมมือกันก็ได้ เป็นโครงการที่ไม่ต้องใช้สถานที่ก็ได้ บทบาทของรัฐไม่ใช่บทบาทของการบริหารหรือการคิดจากส่วนกลาง บทบาทสำคัญที่สุดคือไปคิดร่วมกันกับชุมชนและสร้างกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน” ไชยยงกล่าว
เขาเสริมว่า “แน่นอนถ้ากิจกรรมมันใหญ่พอ มีกิจกรรมต่อเนื่อง มีความหลากหลาย มีความสนุก มันก็ชวนคนสังคมอื่นเข้ามามีบทบาท มามีส่วนร่วมด้วย มันก็ขยายวงมากขึ้น มีผลเรื่องการสร้างคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชน ชุมชนมีงาน ไม่ต้องออกไปหางานที่อื่น มีงานประจำปีซึ่งชุมชนสามารถบริหารจัดการ และมีรายได้เป็นกอบเป็นกำกับเขาได้ มันเกิดขึ้นไม่ได้โดยชุมชนเพียงลำพัง มันเกิดขึ้นจากการที่รัฐเข้าไปร่วมสร้างสรรค์ด้วยกัน”คำพูดจาก สล็อตทรูวอเลท
ในขณะเดียวกัน ลำพังความคิดหรือการบริหารจากส่วนกลางอย่างเดียวก็อาจจะไม่พอ “มันไม่ใช่ว่ามีงบส่วนกลาง เอาไปจัดงานอีเวนต์ อีเวนต์จบเลิก แล้วก็จบไป เราจะเห็นอยู่ในอดีตที่ผ่านมาว่า เวลาไปจัดเฟสติวัล พอจบเมืองก็กลับมาเงียบเหงาเหมือนเดิม เพราะคนในท้องถิ่นไม่ได้มีส่วนร่วม ทำยังไงให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วม มีกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้น ที่สามารถทิ้งร่องรอยของประโยชน์ไว้ได้ต่อเนื่อง ให้เงินลงทุนสร้างผลประโยชน์ต่อเนื่องยาวนานในพื้นที่ … อันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ต้องให้ความสำคัญ ร่วมกันคิดร่วมกันทำ"